ในวันที่สิบสามเดือนที่สิบสองคือเดือนอาดาร์ วันซึ่งพระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้ เป็นวันซึ่งศัตรูของชาวยิวได้คาดหวังไว้ว่าจะกวาดล้างพวกเขา แต่เหตุการณ์กลับตาลปัตร ชาวยิวกลายเป็นฝ่ายได้เปรียบผู้ที่เกลียดชังเขา ชาวยิวชุมนุมกันในเมืองของตนทั่วทุกมณฑลของกษัตริย์เซอร์ซีสเพื่อต่อสู้ผู้ที่มุ่งจะทำลายล้างพวกตน ไม่มีใครต่อต้านพวกเขาได้เพราะทุกชนชาติล้วนหวาดกลัวชาวยิว และบรรดาขุนนางของมณฑลต่างๆ เจ้าหน้าที่ ผู้ว่าการ และข้าราชบริพารล้วนให้ความช่วยเหลือชาวยิวเพราะเกรงกลัวโมรเดคัยจับใจ โมรเดคัยมีอำนาจมากในพระราชวัง ชื่อเสียงของเขาเลื่องลือไปทั่วทุกมณฑล เขามีอำนาจมากขึ้นทุกที

ชาวยิวฆ่าฟันและทำลายล้างศัตรูผู้เกลียดชังตนได้ตามใจชอบ ชาวยิวฆ่าฟันและทำลายศัตรูไปห้าร้อยคนในป้อมเมืองสุสา พวกเขายังฆ่าปารชันดาธา ดาลโฟน อัสปาธา โปราธา อาดัลยา อารีดาธา ปารมัชทา อารีสัย อารีดัย ไวซาธา 10 ซึ่งเป็นบุตรชายทั้งสิบของฮามานบุตรฮัมเมดาธาศัตรูของชาวยิว แต่พวกเขาไม่ได้ริบข้าวของ

11 ในวันเดียวกันนั้นมีผู้กราบทูลรายงานจำนวนผู้ถูกฆ่าในป้อมเมืองสุสาแก่กษัตริย์ 12 พระองค์จึงตรัสกับพระนางเอสเธอร์ว่า “ชาวยิวได้เข่นฆ่าทำลายล้างคนห้าร้อยคนในป้อมเมืองสุสานี้ รวมทั้งบุตรชายสิบคนของฮามานด้วย พวกเขาทำอะไรกับมณฑลอื่นๆ ของเรา? ตอนนี้เจ้าจะขออะไรอีก? เราจะให้ บอกมาเถิดเจ้าปรารถนาอะไร? เราจะให้”

13 เอสเธอร์ทูลว่า “หากฝ่าพระบาทจะทรงกรุณา ขออนุญาตให้ชาวยิวที่ป้อมเมืองสุสานี้ทำตามพระราชโองการอย่างวันนี้อีกในวันพรุ่งนี้และขอให้แขวนบุตรชายทั้งสิบคนของฮามานบนตะแลงแกง”

14 ฉะนั้นกษัตริย์ทรงมีพระราชโองการที่ป้อมเมืองสุสา ร่างบุตรชายทั้งสิบของฮามานก็ถูกแขวนบนตะแลงแกง 15 ชาวยิวในป้อมเมืองสุสารวมตัวกันอีกในวันที่สิบสี่เดือนอาดาร์และสังหารศัตรูอีกสามร้อยคน แต่ไม่ได้ริบข้าวของ

16 ในขณะเดียวกันชาวยิวอื่นๆ ทั่วจักรวรรดิรวมตัวกันปกป้องชีวิตของตนเองและทำลายศัตรูทั้งปวง สังหารพวกนั้นไป 75,000 คน แต่ไม่ได้ริบข้าวของ 17 เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในวันที่สิบสามเดือนอาดาร์ และพวกเขาหยุดพักในวันที่สิบสี่ และตั้งเป็นวันฉลองรื่นเริงยินดี

18 ส่วนชาวยิวที่ป้อมเมืองสุสาชุมนุมกันในวันที่สิบสามและวันที่สิบสี่ แล้วหยุดพักในวันที่สิบห้า และตั้งเป็นวันฉลองรื่นเริงยินดี

19 ด้วยเหตุนี้ชาวยิวในชนบทผู้อาศัยในหมู่บ้านต่างๆ ฉลองกันในวันที่สิบสี่เดือนอาดาร์ เป็นวันฉลองรื่นเริงยินดีและมอบของขวัญแก่กันและกัน

การฉลองเทศกาลปูริม

20 โมรเดคัยบันทึกเหตุการณ์เหล่านี้ไว้ และเขียนจดหมายไปถึงชาวยิวทั้งใกล้และไกล ทั่วทุกมณฑลของกษัตริย์เซอร์ซีส 21 ให้เฉลิมฉลองประจำปีในวันที่สิบสี่และสิบห้าเดือนอาดาร์ 22 เป็นโอกาสที่ชาวยิวปลอดพ้นจากศัตรู เดือนที่ความโศกเศร้ากลับกลายเป็นความรื่นเริงยินดี และการคร่ำครวญไว้ทุกข์กลับกลายเป็นวันแห่งการเฉลิมฉลอง จึงให้ถือเป็นวันฉลองรื่นเริง มอบอาหารให้แก่กันและกัน และให้ของขวัญแก่คนยากจน

23 ชาวยิวจึงเห็นพ้องต้องกันที่จะยึดถือการเฉลิมฉลองสืบไปตามที่โมรเดคัยเขียนบอก 24 ด้วยว่าฮามานบุตรฮัมเมดาธาชาวอากักศัตรูของชาวยิวทั้งปวงได้วางแผนจะทำลายพวกตนตามเวลาซึ่งกำหนดโดยการทอดสลากที่เรียกว่าเปอร์ 25 แต่เมื่อแผนการนี้รู้ถึงองค์กษัตริย์[a] พระองค์ทรงประกาศพระราชโองการที่ทำให้แผนการอันชั่วร้ายของฮามานหวนกลับไปเล่นงานตัวเขาเอง ตัวฮามานและบุตรต้องถูกแขวนบนตะแลงแกง 26 (เทศกาลนี้จึงได้ชื่อว่าปูริม มาจากคำว่า “เปอร์”) เนื่องด้วยทุกสิ่งที่เขียนไว้ในจดหมายนั้น และเนื่องด้วยสิ่งที่พวกเขาได้เห็นและได้เกิดขึ้นกับพวกเขา 27 ชาวยิวเห็นชอบที่จะตั้งธรรมเนียมขึ้นซึ่งพวกเขาและลูกหลาน ตลอดจนทุกคนที่มาเข้าเป็นพวกจะฉลองทั้งสองวันนี้ตามวิธีและวาระที่กำหนดทุกปีไม่ให้ขาด 28 วันเหล่านี้จะเป็นวันรำลึกซึ่งยึดถือกันตลอดไปทุกชั่วอายุ ทุกครอบครัว ในทุกหัวเมือง และในทุกมณฑล ชาวยิวจะฉลองเทศกาลปูริมสองวันนี้เพื่อเป็นอนุสรณ์ตลอดไปตราบชั่วลูกหลาน

29 พระราชินีเอสเธอร์ธิดาอาบีฮายิลจึงร่วมกับโมรเดคัยชาวยิวเขียนจดหมายรับรองด้วยสิทธิอำนาจเต็มที่ ยืนยันจดหมายฉบับที่สองนี้ซึ่งเกี่ยวกับปูริม 30 และโมรเดคัยส่งสาส์นไปถึงชาวยิวทั้งปวงทั่ว 127 มณฑลในจักรวรรดิของกษัตริย์เซอร์ซีส อวยพรให้อยู่ดีมีสุขและมั่นคง 31 ให้ยึดถือสองวันนี้เป็นเทศกาลปูริมประจำปี เป็นคำสั่งของโมรเดคัยชาวยิวและเป็นพระราชเสาวนีย์ของพระราชินีเอสเธอร์ ชาวยิวเองก็ได้ลงมติให้ประเพณีนี้เป็นอนุสรณ์สืบทอดไปถึงลูกหลาน รำลึกถึงวาระที่ชนทั้งชาติร่วมกันถืออดอาหารและคร่ำครวญ 32 พระราชเสาวนีย์ของเอสเธอร์รับรองกฎระเบียบเกี่ยวกับปูริม และมีบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

Footnotes

  1. 9:25 หรือเมื่อเอสเธอร์มาเข้าเฝ้ากษัตริย์